เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พี่มิ้นท์ได้นำคำไทยที่เขียนผิดบ่อยๆ 25 คำแรกมาฝากน้องๆ ในบทความ 50 คำไทยใช้บ่อยที่เด็กไทยเขียนผิดประจำ (ตอนที่ 1) ผล ตอบรับค่อนข้างดีทีเดียว บางคนเพิ่งรู้ตัวด้วยว่าเขียนผิดมาตลอด ฮ่าๆ ไม่เป็นไรค่ะ รู้วันนี้ก็ยังไม่สาย รีบแก้ตัวแล้วกันนะ... วันนี้ก็ได้เวลามาต่อกันตอนที่ 2 มาดูกันว่าอีก 25 คำที่เหลือ น้องๆ เขียนผิดกันอยู่หรือเปล่า
และกติกายังเหมือนเดิม เมื่อรู้วิธีเขียนที่ถูกต้องแล้ว ขอให้น้องๆ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องด้วยนะคะ แค่นี้ก็ถือว่าช่วยอนุรักษ์ภาษาไทยได้แล้วววว
26) ตำรับ VS ตำหรับ
คำที่ถูก >> ตำรับ
ภาษาไทยขึ้นชื่อว่าเป็นภาษาที่ยากติดอันดับโลก เพราะมีเสียงวรรณยุกต์และการสะกดที่หลากหลาย อย่าว่าแต่ฝรั่งเลย คนไทยเองก็สับสนเหมือนกัน อย่างคำที่ 26 นี้ ต้องมีน้องๆ เคยสงสัยแน่นอนว่า เขียน "ตำรับ" ทำไมอ่าน "ตำ-หรับ" ทั้งๆ ที่ไม่มีอักษรนำเลย
พี่มิ้นท์ขออธิบายถึงที่มาของคำนี้ก่อนว่า คำว่า "ตำรับ" เป็นคำแผลงที่มาจากคำว่า "ตรับ" ค่ะ คล้ายๆ กับ ตำรวจที่แผลงมาจากตรวจ ซึ่งการแผลงคำเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการสร้างคำขึ้นในภาษาไทย อย่างตัวอย่างนี้ก็แผลงพยัญชนะจากพยางค์เดียวให้มาเป็น 2 พยางค์ โดยหลักการอ่านออกเสียงคำแผลงประเภทนี้มีอยู่ว่า ถ้าคำเดิมเป็นพยัญชนะควบกล้ำ เวลาอ่านออกเสียงในพยางค์หลังต้องมีเสียงวรรณยุกต์เท่าคำเดิม ดังนั้น จาก "ตรับ" จึงอ่านออกเสียงเป็น "ตำ-หรับ" (แม้จะเขียนว่า ตำรับ ก็ตาม)
27) โอกาศ VS โอกาส
คำที่ถูก >> โอกาส
คำนี้มีน้องๆ ชาว Dek-D.com แนะนำมาว่าเจอคนเขียนผิดบ่อยมาก มักจะใช้ ศ สะกดเหมือนกับคำว่า อากาศ แต่ที่ถูกต้องจริงๆ จะต้องใช้ "ส" ในการสะกดค่ะ เนื่องจาก"โอกาส" เป็นคำภาษาบาลี ซึ่งภาษาบาลี ไม่มี "ศ" "ษ" นะคะ จำไว้ให้แม่นเลย
28) ทะเลสาบ VS ทะเลสาป
คำที่ถูก >> ทะเลสาบ
คำว่า "สาบ" กับ "สาป" เป็นอีกคู่ที่น้องๆ มักสับสน นอกจากไม่รู้ว่าต้องใช้ตัวไหนแล้วยังไม่รู้ด้วยว่าสองคำนี้ต่างกันอย่างไร
คำว่า "สาป" ในภาษาไทยมีเพียงความหมายเดียว หมายถึง คำแช่งให้เป็นไปต่างๆ มาจากภาษาบาลีค่ะ
ส่วน "สาบ" มีหลายความหมายเลย เช่น กลิ่นเหม็นสาบ, แมลงสาบ, สาบเสื้อสำหรับเจาะรังดุม และใช้เรียกห้วงน้ำใหญ่คล้ายบึง หรือ ทะเลสาบนั่นเอง ดังนั้นถ้าไม่ได้คิดแช่งใคร เมื่อสะกดคำว่า "สาบ" ให้ใช้ "บ" สะกดเสมอนะคะ
29) เครื่องสำอางค์ VS เครื่องสำอาง
คำที่ถูก >> เครื่องสำอาง
อีกหนึ่งคำที่มองไปทางไหนก็เจอแต่คนเขียนผิดและใช้ผิดต่อๆ กันไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เครื่องสำอางค์ ที่เขียนแบบนี้ไม่มีความหมายในภาษาไทยเลย ที่ถูกต้องจริงๆ ต้องเขียนว่า "เครื่องสำอาง" แบบไม่มี "ค์" ค่ะ (บางทีคนไทยก็ชอบเขียนคำง่ายๆ ให้เป็นคำยากๆ เสมอ)
โดยคำว่า "สำอาง" มีความหมายว่า สิ่งเสริมแต่ง บำรุงใบหน้า, งามสะอาดหมดจด เป็นต้น
30) นะค่ะ VS นะคะ VS น๊ะค๊ะ
คำที่ถูก >> นะคะ
สำหรับสาวๆ ที่ต้องใช้คำนี้เพื่อลงท้ายให้สุภาพ ควรเขียนคำนี้ให้ถูกต้องนะคะ เพราะต้องใช้ไปจนแก่เลย
/น/ และ /ค/ เป็นอักษรต่ำ ไม่ต้องเติมวรรณยุกต์ก็ออกเสียงวรรณยุกต์ตรีอยู่แล้ว ดังนั้น น๊ะค๊ะ ผิดเต็มๆ ส่วนนะค่ะ ไม่มีความหมายในภาษาไทยค่ะ
31) บังสุกุล VS บังสกุล
คำที่ถูก >> บังสุกุล
บังสุกุล เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าที่พระสงฆ์ชักจากศพหรือผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ คำนี้เมื่อพูดเร็วๆ รัวๆ อาจฟังเป็น บังสกุล ซึ่งเป็นการสะกดที่ผิดค่ะ(สกุล หมายถึง วงศ์ตระกูล) ก่อนสตาร์ทเขียนคำนี้ ตั้งสติดีๆ และอย่าลืมเติม "สระอุ" สองตัวนะคะ
32) บัญญัติไตรยางค์ VS บัญญัติไตรยางศ์
คำที่ถูก >> บัญญัติไตรยางศ์
บัญญัติไตรยางศ์ เป็นวิธีการทางคณิตศาสตร์วิธีนึงใช้สำหรับการเปรียบเทียบ สะกดเหมือนคำว่า "ไตรยางศ์" ที่แปลว่า 3 ส่วน ใช้ "ศ์" เสมอ ส่วน "ไตรยางค์" คำนี้ไม่มีความหมายนะคะ
33) บิดพลิ้ว VS บิดพริ้ว
คำที่ถูก >> บิดพลิ้ว
สำหรับคำนี้จุดที่ผิดบ่อยๆ คือ คำว่า "พลิ้ว" หลายคนใช้ควบกล้ำ "พร" เพราะดูคุ้นกว่า แต่หารู้ไม่ว่าในภาษาไทยคำว่าพริ้ว ไม่มีความหมายนะคะ ท่องไว้ "พลิ้ว" คือ อาการบิดเบี้ยว หรือสะบัดไปตามลม ดังนั้นเมื่อเจอ "ลม" ก็ใช้ "ล" สะกดนะ
34) บูชายันต์ VS บูชายัญ
คำที่ถูก >> บูชายัญ
การบูชายัญ เป็นการบูชาของพราหมณ์อย่างหนึ่งด้วยวิธีการฆ่าคนหรือสัตว์เป็นเครื่องบูชา ซึ่งคำว่า "ยัญ" ใน บูชายัญมีความหมายในตัวของมันอยู่แล้วคือ การเซ่น, การบูชา ดังนั้นก่อนเขียนให้ระลึกเสมอว่าบูชายัญเป็นการฆ่าคน ไม่ใช่การบูชาผ้ายันต์ นะคะ :)
35) ปฐมนิเทศ VS ปฐมนิเทศก์
คำที่ถูก >> ปฐมนิเทศ
น้องๆ ที่เข้า ม.1 ม.4 หรือเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องผ่านการปฐมนิเทศเพื่อฟังคำแนะนำต่างๆ ก่อน ถ้ามองความหมายทีละคำ จะเข้าใจความหมายมากขึ้น คือ ปฐมหมายถึงลำดับแรก ส่วนนิเทศ หมายถึงการชี้แจง, การแสดง โดย "นิเทศ" คำนี้ไม่ต้องมีตัวการันต์นะคะ ปล่อยโล่งๆ แบบนี้นี่แหละ
36) เปอร์เซนต์ VS เปอร์เซ็นต์
คำที่ถูก >> เปอร์เซ็นต์
ราชบัณฑิตยสถานได้ระบุวิธีเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษไว้หลายคำ รวมถึงคำว่า percent ด้วย ซึ่งวิธีเขียนที่ถูกต้องจะต้องใส่ไม้ไต่คู้ในพยางค์หลังว่า "เปอร์เซ็นต์" ค่ะ
37) ผีซ้ำด้ามพลอย VS ผีซ้ำด้ำพลอย
คำที่ถูก >> ผีซ้ำด้ำพลอย
เป็นอีกสำนวนหนึ่งที่เขียนผิดกันบ่อยๆ สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เขียนคำนี้ผิดเป็น "ผีซ้ำด้ามพลอย" คงเป็นเพราะไม่รู้ความหมายของคำว่า "ด้ำ" ฟังไปฟังมาเลยเพี้ยนกลายเป็น "ด้าม" ไปซะอย่างนั้น
คำว่า "ด้ำ" เป็นภาษาถิ่นในภาคอีสาน หมายถึง ผีเรือน ค่ะ ผีซ้ำด้ำพลอยก็หมายถึง เราถูกผีอื่นกระทำแล้วยังถูกผีเรือนของตัวเองซ้ำเติมอีก ดังนั้นสำนวนนี้จึงหมายถึง ถูกซ้ำเติมอีกเมื่อพลาดพลั้ง ประมาณซวยซ้ำซวยซ้อนก็ได้ค่ะ
เมื่อรู้ความหมายไปแล้ว ขอเพิ่มเติมวิธีจำอีกนิด ให้น้องๆ จำไว้ว่าสำนวนไทยส่วนใหญ่จะใช้คำคล้องจอง มีสัมผัสค่ะ ดังนั้นพยางค์ก่อนหน้าเป็นสระอำ คำต่อมาก็จัดสระอำตามไปเลยค่ะ
38) พิธีรีตอง VS พิธีรีตรอง
คำที่ถูก >> พิธีรีตอง
พิธีรีตอง หมายถึง งานพิธีตามแบบตามธรรมเนียม เวลาเขียนคำนี้ไม่ต้องเติม "ร" ในคำว่า "ตอง" นะคะ ท่องเลยๆ
39) แพทยศาสตร์ VS แพทย์ศาสตร์
คำที่ถูก >> แพทยศาสตร์
ใครอยากเป็นหมอจำคำนี้ไว้ดีๆ นะคะ คำว่า "แพทยศาสตร์" เป็นคำสมาสระหว่างคำว่า "แพทย์" + "ศาสตร์" เมื่อเอามารวมกัน คำก่อนหน้าที่มีการันต์ให้ตัดทิ้งได้เลย ดังนั้นเวลาออกเสียงคำนี้ให้อ่านว่า "แพด-ทะ-ยะ-สาด"
40) มัสหมั่น VS มัสมั่น
คำที่ถูก >> มัสมั่น
มัสมั่นเป็นชื่อแกงชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นแกงข้น ปรุงด้วยเครื่องเทศ ใส่ไก่หรือเนื้อลงไป(อร่อยมาก) น้องๆ หลายคนท่องกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานกันได้ แต่จะมีซักกี่คนที่เขียน "มัสมั่น" ถูก แม้ว่าพยางค์หลังของคำนี้ออกเสียงเหมือนมีอักษรนำตามหลัง แต่วิธีการเขียนที่ถูกต้องในภาษาไทย ต้องไม่มี "ห" นะคะ
41) มาตรฐาน VS มาตราฐาน
คำที่ถูก >> มาตรฐาน
คำง่ายๆ ที่บางคนก็เขียนผิด คำว่า "มาตรฐาน" เป็นคำสมาสอีกแล้วค่ะ เป็นการสมาสกันระหว่างคำ มาตร(สันสกฤต) + ฐาน(บาลี) ซึ่งเวลาอ่านคำสมาสเราก็ต้องออกเสียงสระอะ ของพยางค์ท้ายในคำหน้าด้วย การออกเสียงบ่อยๆ ทำให้รู้ว่าคำนี้เป็นเสียงสั้น อ่านว่า "มาด-ตระ-ถาน" ไม่ใช่ "มาด-ตรา-ถาน" ดังนั้นไม่ต้องเติม "สระอา" ตรงกลางนะจ๊ะ
42) เวทมนต์ VS เวทย์มนตร์ VS เวทมนตร์
คำที่ถูก >> เวทมนตร์
"เวทมนตร์" หมายถึง คำศักดิ์สิทธิ์ที่บริกรรมเพื่อให้สำเร็จตามสิ่งที่้ต้องการ คำนี้เขียนผิดกันหลายแบบเลยค่ะ โดยจะสับสนว่าต้องใส่ตัวการันต์หรือไม่ ใส่กี่คำ และใช้ตัวการันต์ตัวไหน
สรุปง่ายๆ ว่า คำว่า "เวท" ไม่ต้องมีการันต์ค่ะ โดยจะหมายถึงความรู้, ถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นเป็นคาถาอาคม เป็น "เวท" ตัวเดียวกับคำว่า "ร่ายเวท" "สามเวท" ค่ะ ส่วนคำว่า "มนตร์" นั้น ใช้ "ตร์" เป็นคำสันสกฤตค่ะ
43) แมลงสาป VS แมลงสาบ
คำที่ถูก >> แมลงสาบ
หลักการเขียนคำว่า "สาบ" พี่มิ้นท์ได้อธิบายไว้ในข้อ 28) แล้ว ดังนั้นการเขียนคำนี้ให้ถูกต้อง ต้องใช้ "บ" ถึงจะถูกต้องนะคะ
44) ไยแมงมุม VS ใยแมงมุม
คำที่ถูก >> ใยแมงมุม
45) หยากใย่ VS หยากไย่
คำที่ถูก >> หยากไย่
46) ลำไย VS ลำใย
คำที่ถูก >> ลำไย
ขอพูดรวบยอดคำที่ 44 - 46 พูดถึงการใช้สระ "ไ-" และ "ใ-" ในภาษาไทยสับสนกันพอสมควร วิธีจำการเขียนที่ถูกต้องคำในกลุ่มนี้ก็ไม่ยากค่ะ เชื่อว่าน้องๆ เคยท่องกลอน "คำไทยที่ใช้ไม้ม้วน" กันมาแล้ว ซึ่งกลอนบทนั้นได้รวบรวมคำไทยที่ใช้ไม้ม้วนทั้งหมด 20 คำไว้ ดังนั้นไม่มั่นใจคำไหน เสียเวลาท่องในใจกันซักนิด ถ้าไม่เห็นว่าอยู่ในกลอนนี้ใช้ "ไ-" โลดค่ะ ทบทวนกลอนกันซักนิด
ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี
สรุปแล้ว ใยแมงมุม ต้องใช้ ไม้ม้วน "ใ-" เหมือนห่วงใย
ส่วน "หยากไย่" และ "ลำไย" ใช้ไม้มลาย "ไ-" ค่ะ
47) ริดรอน VS ลิดรอน
คำที่ถูก >> ลิดรอน
จำได้ว่าสมัยเรียนเจอคำนี้ออกข้อสอบบ่อยเหลือเกิน(แต่ก็ไม่เคยจำวิธีเขียน ที่ถูกซะที) ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้อาจารย์ยังเอามาออกข้อสอบอยู่หรือเปล่า สำหรับคำนี้จะมึนๆ เรื่องการใช้พยัญชนะ เพราะไม่รู้ว่าพยางค์ไหนใช้ "ร" "ล" บางทีก็เขียนผิดไปใช้พยัญชนะตัวเดียวกันทั้งพยางค์หน้าและหลัง
วิธีการเขียนคำนี้ให้ถูกต้อง ต้องเขียนว่า "ลิดรอน" พยางค์หน้าใช้ "ล" พยางค์หลังใช้ "ร" อยาก เขียนคำนี้ให้ถูกต้อง น้องๆ ต้องฝึกเขียนบ่อยๆ ค่ะเพื่อให้ชินมือ นอกจากนี้การอ่านออกเสียงควบกล้ำให้ตัวเองฟังบ่อยๆ ก็ช่วยจำวิธีเขียนคำนี้ได้เหมือนกัน
48) ลูกเกด VS ลูกเกตุ
คำที่ถูก >> ลูกเกด
ลูกเกด คือ ลูกองุ่นแห้งที่เป็นของกินเล่น หรือใช้ใส่ในข้าวผัดอเมริกันนั่นเอง "ลูกเกด" สะกดตรงๆ ใช้ "ด" สะกดได้เลยค่ะ ซึ่งคำว่า "เกด" ก็หมายถึงลูกองุ่นแห้งอยู่แล้ว ส่วนคำว่า "เกตุ" จะหมายถึง ธง ค่ะ ความหมายคนละเรื่องเลย
นอกจากนี้คำที่อ่านว่า "เกด" ที่มีปัญหาอีกคำ คือ "สังเกต" คำนี้ใช้ "ต" สะกด โดยไม่ต้องเติมสระอุ ค่ะ
49) ไล่เรียง-ไล่เลียง
คำที่ถูก >> ไล่เลียง
"ไล่เลียง" คือ การซักไซ้, ไต่ถาม มักจะใช้คู่กับคำว่า ซักไซ้ไล่เลียง คำนี้ใช้ "ล" สะกดทั้งสองตัวเลยนะคะ เพราะถ้าแยกความหมายของคำทั้งสองออกจากกัน จะพบว่า "ไล่" หมายถึง การขับออก, บังคับให้ไป ส่วน "เลียง" ก็หมายถึง การไล่สิ่งไม่บริสุทธิ์ออก ดังนั้นคำนี้จึงเป็นคำซ้อน ประเภทซ้อนความหมายค่ะ จำไว้เลยว่า คำนี้ คำหน้าและหลังมีความหมายเหมือนกัน และใช้พยัญชนะต้นตัวเดียวกันด้วย
50) วิ่งเปี้ยว VS วิ่งเปรี้ยว
คำที่ถูก >> วิ่งเปี้ยว
เชื่อว่าเด็กไทยเกินร้อยละ 80 โตขึ้นมากับการเล่นวิ่งเปี้ยว โดยเฉพาะในงานกีฬาสี ปกติคำนี้เราใช้แต่วิธีพูด ไม่ค่อยได้ลงมือเขียนกันเท่าไหร่ ฉะนั้นเวลาต้องมาเขียนจริงๆ ก็นึกไปเองว่าใช้ "เปรี้ยว" เหมือนรสเปรี้ยว แต่ที่ถูกต้องจริงๆ เขียน "เปี้ยว" ธรรมดา ไม่ต้องเติม "ร" นะคะ อเมซิ่งสุดๆ
ภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีเป็นหมื่นเป็นแสนคำ เขียนผิดบ้างก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ถ้าน้องๆ มีโอกาสได้รู้วิธีเขียนที่ถูกต้องก็ควรฝึกเขียนให้ถูก เพราะบนโลกใบนี้ก็มีแต่คนไทยที่เป็นเจ้าของภาษาไทย ถ้าคนไทยยังเขียนผิดแล้วใครจะเขียนถูกล่ะคะ :) และ 50 คำที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น มีเวลาว่างลองหาหนังสือดีๆ อ่านดูวิธีการเขียน-เลือกใช้คำ หรือสงสัยการสะกดคำไหนก็เปิดพจนานุกรมให้หายสงสัยกันไปเลย รับรองว่าอีกหน่อยน้องๆ จะเป็นกูรูภาษาไทยเลยทีเดียว
ที่มา : http://www.dek-d.com/article/31558/